Connect with us

ข่าวประชาสัมพันธ์

วงเสวนาชี้ เทคโนโลยี AI ช่วยลดความรุนแรงในครอบครัว งานวิจัยเผยผู้ถูกกระทำพร้อมเปิดใจกับหุ่นยนต์มากกว่ามนุษย์

Published

on

 

จากงานเสวนา “การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลครั้งแรกในประเทศไทย: กรณีศึกษาความรุนแรงในครอบครัว”จัดโดยโครงการดีแทคพลิกไทย แพลทฟอร์มออนไลน์สำหรับโครงการเพื่อสังคม โดยบริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค โดยนักเคลื่อนไหวทางสังคม ตำรวจและนักเทคโนโลยี เห็นพ้อง “เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์” ช่วยเปิดพื้นที่และเพิ่มประสิทธิภาพระบบการให้คำปรึกษา หวัง “โปลิศน้อย” ช่วยลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ขณะที่ดีแทคดึงผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์จากเทเลนอร์ร่วมพัฒนาโครงการเพื่อสังคม พร้อมเชิญชวนป้อนข้อมูลในหุ่นยนต์ผ่านเฟซบุ๊ก “PoliecNoi โปลิศน้อย”

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยถึงสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวของไทยว่า ปัจจุบันยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทั้งความชุกและประเภทของความรุนแรง จากการศึกษาความรุนแรงในครอบครัวจากข่าวหนังสือพิมพ์ในปี พ.ศ.2559 พบว่า มีคดีที่เกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวถึง 466 คดี โดยความรุนแรงถึงขั้นถึงแก่ชีวิตคิดเป็นสัดส่วนถึง 83% ของคดีทั้งหมด

สถานการณ์ส่วนใหญ่ ผู้ชายเป็นผู้กระทำในทุกประเภทข่าวความรุนแรง โดยเฉพาะข่าวการฆ่ากัน ข่าวการทำร้ายกัน โดยมีชนวนเหตุมาจากความหึงหวงและภรรยาไม่ยอมคืนดีด้วย ในขณะเดียวกัน ก็พบข้อมูลภรรยาเป็นผู้กระทำการฆ่า แต่เหตุผลส่วนใหญ่สืบเนื่องมาจาก การทนทุกข์กับสภาวะการถูกกระทำความรุนแรงมาก่อน

“เหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวสะท้อนทัศนคติที่ถูกปลูกฝังว่าเมื่อหญิงและชายมีความสัมพันธ์กันแล้ว ทั้งในรูปแบบของสามี ภรรยา หรือคู่รักแบบแฟน ฝ่ายชายมักคิดว่าฝ่ายหญิงต้องเป็นสมบัติของฝ่ายชาย ถือเป็นการใช้อำนาจเหนือผ่านการแสดงออกที่เป็นรูปธรรมของพฤติกรรมความเป็นเจ้าของ การครอบครอง การใช้กำลังบังคับข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย จนถึงขั้นร้ายแรงที่สุดก็คือการฆ่า สะท้อนการที่ผู้กระทำไม่มองคนรักเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน” นายจะเด็จ กล่าว

นอกจากนี้ พื้นที่ที่เกิดเหตุความรุนแรงในครอบครัว พบว่าส่วนใหญ่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ซึ่งมีความหลากหลายทางสังคม สภาวะแรงกดดัน การแข่งขัน มีความเป็นเมืองสูง อาศัยอยู่อย่างปัจเจก ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นแรงผลักดันให้เกิดสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวขึ้นได้

“แนวคิดสังคมชายเป็นใหญ่ ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว ทำให้ไม่สามารถปรึกษาคนใกล้ตัว เพื่อนหรือคนในครอบครัวได้ จึงทำให้เกิดแรงกดดันและความรุนแรงต่อเนื่องได้ การมี ‘พื้นที่’ ให้ผู้ถูกกระทำได้ปรึกษาและระบายความรู้สึก จึงมีความสำคัญมาก เป็นกลไกที่ช่วยยุติความรุนแรงในครอบครัวได้” นายจะเด็จ กล่าว

พ.ต.ท.หญิง เพรียบพร้อม เมฆิยานนท์ อาจารย์จากสถาบันส่งเสริมงานสอบสวนและผู้นำเสนอโครงการโปลิศน้อย กล่าวว่า จากสถิติความรุนแรงที่ผู้หญิงพบเจอ พบว่าในแต่ละปี จะมีผู้หญิงถูกข่มขืนจำนวน 30,000 ราย นั้นหมายถึง ในทุก 15 นาที มีผู้หญิงถูกข่มขืน แต่มีเพียง 4,000 รายเท่านั้นที่ผู้เสียหายแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีเพียง 2,400 คดีเท่านั้นที่ผู้ต้องหาถูกดำเนินคดี (ข้อมูลจากงานวิจัยเรื่อง women’s access to justice ของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย) ซึ่งจากตัวเลขนี้เป็นเพียงตัวอย่างคดีที่ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางเพศ ในขณะที่ยังมีความรุนแรงอีกหลายรูปแบบโดยเฉพาะความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากคนใกล้ตัว เช่นการถูกคู่รักฆ่าหรือทำร้ายร่างกาย

จากข้อมูลข้างต้น สะท้อนถึงปัญหาในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้ถูกกระทำ โดยในส่วนคดีที่ถูกทำร้ายร่างกาย ผู้เสียหายส่วนใหญ่เลือกที่จะเก็บเงียบ ไม่ประสงค์จะแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพราะมองว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว เกรงจะถูกตราหน้าให้อับอาย ความกลัวเพราะถูกข่มขู่โดยคู่กรณี หรืออยู่ในสภาวะต้องพึ่งพาทางเศรษฐกิจต่อผู้กระทำผิด รวมทั้งไม่ทราบว่าตนมีสิทธิที่จะดำเนินคดีได้ เช่น เป็นสามีภรรยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นเพียงผู้อยู่อาศัยในครัวเรือน เช่น คนรับใช้ในบ้าน

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มาจากผู้บังคับใช้กฎหมายเอง เช่น หากมีการไปร้องทุกข์แล้ว ผู้เสียหายเกรงว่าจะไม่ได้รับความเอาใจใส่ในคดี เพราะในบางครั้งตัวผู้บังคับใช้กฎหมายเองมองว่าเป็นปัญหาในครอบครัว หรือหากดำเนินคดีไปท้ายที่สุดแล้วในชั้นศาลก็เข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ยซ้ำไปซ้ำมา รวมทั้งปัจจัยที่มาจากตัวผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงเหล่านี้ มักมาขอถอนคำร้องทุกข์เพราะได้กลับเข้าสู่ช่วงที่มีความสัมพันธ์อันดี (Honeymoon period) ทำให้เกิดความใจอ่อน สงสาร จนไม่ประสงค์ที่จะดำเนินคดีต่อไป

สาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลให้สถิติในการดำเนินคดีมีจำนวนน้อย ซึ่งในปี 2556 มีคดีความรุนแรงทั้งสิ้น 696 คดี ในขณะที่หากติดตามข่าวจากสื่อออนไลน์ต่าง ๆ แล้ว จะพบว่าผู้หญิงตกเป็นเหยื่อของการกระทำความรุนแรงในครอบครัวสูงมาก ไม่ว่าข่าวผู้หญิงถูกทำร้าย หรือถูกฆาตกรรมจากความหึงหวงโดยคนรักหรือคนใกล้ชิดของตนเอง หรือข่าวที่ปรากฏว่าผู้หญิงลงมือฆ่าคนรักหรือสามีเพราะการถูกกดขี่ หรือถูกทำร้ายร่างกายซ้ำๆ เป็นเวลานาน จึงเลือกยุติปัญหาด้วยการเป็นผู้กระทำเสียเอง

“จะเห็นได้ว่า กลไกในการให้คำปรึกษาจะเข้ามามีส่วนสำคัญอย่างมากในการลดความรุนแรงในครอบครัว เพิ่มช่องทางในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ง่ายขึ้น ซึ่งช่องทางดิจิทัลอย่างแอปพลิเคชันหรือแชทบอท จะเข้ามามีส่วนสำคัญในการเป็นที่ปรึกษา และนี่จึงเป็นที่มาของโครงการโปลิศน้อย แชทบอทที่จะเป็นเพื่อนให้ผู้หญิงที่ถูกกระทำได้มีช่องทางในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเพิ่มมากขึ้น” พ.ต.ท.หญิง เพรียบพร้อม กล่าว

“โปลิศน้อย” จะเป็นอีกช่องทางในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการให้คำปรึกษา ลดปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่อาจเกิดความไม่ไว้ใจในการให้ข้อมูล รวมถึงการขาดแคลนเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษา ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทดสอบความถูกต้องและความแม่นยำในการให้บริการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยบริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ที่ให้ทุนเบื้องต้น 100,000 บาท ในการพัฒนาและเชื่อมโยงเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาหุ่นยนต์ ซึ่งได้ ดร.วินน์ วรวุฒิคุณชัย นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลประจำเทเลนอร์ เอเชียเข้ามาช่วยพัฒนาหุ่นยต์โปลิศน้อย โดยปัจจุบัน อยู่ในขั้นการเพิ่มความแม่นยำของคำปรึกษาด้วยการป้อนข้อมูลเพิ่มมากขึ้น โดยสามารถร่วมป้อนข้อมูลได้ที่เฟซบุ๊ก “PoliecNoi โปลิศน้อย”

ดร.วินน์ กล่าวว่า นอกเหนือจากการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ที่ใช้อย่างแพร่หลายในเชิงธุรกิจแล้ว เทคโนโลยีล้ำสมัยเหล่านี้ยังสามารถนำมาปรับใช้กับการแก้ไขปัญหาสังคมอย่างนานัปการ ซึ่งมีข้อดีคือการให้ข้อมูล 24 ชั่วโมง ตอบโต้ทันที และได้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ

จากประสบการณ์ในการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อการสื่อสารที่ชื่อว่า “บอทน้อย” (Botnoi) ซึ่งมีผู้ใช้บริการกว่า 1 ล้านรายบนแอปพลิเคชันไลน์ พบว่าหุ่นยนต์สามารถเป็นเพื่อนคุยกับมนุษย์ได้ดี โดยเฉพาะการทำหน้าที่ “รับฟัง” สามารถช่วยยับยั้งการตัดสินใจในการฆ่าตัวตายได้ สอดคล้องกับงานวิจัยเรื่อง Humanity in the Machine โดยเอเจนซี่โฆษณามายด์แชร์ สหราชอาณาจักร, มหาวิทยาลัยโกลด์สมิธ และไอบีเอ็มวัตสัน ระบุว่า 63% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่ามนุษย์มีความสะดวกใจที่จะให้ข้อมูลที่มีความอ่อนไหวกับหุ่นยนต์มากกว่ามนุษย์ เนื่องจากมีความไว้เนื้อเชื่อใจว่าจะไม่ถูกตัดสินจากผู้รับข้อมูลที่เป็นมนุษย์

“นี่ถือเป็นก้าวสำคัญของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหาสังคม ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดช่องว่างที่เกิดขึ้นในอดีตได้” ดร.วินน์ กล่าว

เกี่ยวกับโครงการดีแทคพลิกไทย

เพราะดีแทคเชื่อมั่นในพลังของคนไทยทุกคนที่ต้องการเห็นสังคมไทนที่ดีขึ้น จึงได้ริเริ่มโครงการ “พลิกไทย” เพื่อเชิญชวนให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีไอเดียในการแก้ไชปัญหาและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ประเทศไทยอย่างยั่งยืน ดีแทคได้คัดเลือกแนวคิดกิจกรรมจำนวน 10 แนวคิด ที่สามารถปฏิบัติได้จริง และสามารถสร้างประโยชน์แก่สมาชิกส่วนใหญ่ในชุมชน ทั้งในระยะสั้น และระยะยาวในเชิงเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม และจะมอบเงินทุนสนับสนุนเบื้องต้น เพื่อให้โครงการสามารถเป็นจริงได้

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการที่ www.dtac.co.th/plikthai

กำลังฮอต

Featured3 วัน ago

รีวิว Xiaomi 14 | 14 Ultra เรือธงกล้องเทพในสองขนาด พร้อมการถ่ายภาพและวิดีโอระดับ Next-Generation ของ Leica!

รีวิว Xiaomi 14 Seri...

Featured2 สัปดาห์ ago

รีวิว vivo V30 Pro 5G สมาร์ตโฟน “Portrait So Pro” ถ่ายเทพเกินคนด้วยกล้องขั้นสูงควบคู่เลนส์ ZEISS ระดับโปร พร้อมเทคโนโลยีระดับเรือธง

รีวิว vivo V30 Pro 5...

Featured3 สัปดาห์ ago

รีวิว vivo V30 5G สมาร์ตโฟน “Portrait So Pro” ถ่ายเทพเกินคนด้วยออร่าพอร์ตเทรต 3.0 พร้อมกล้อง 50MP ทุกเลนส์

รีวิว vivo V30 5G สม...

Android News4 สัปดาห์ ago

แกะกล่องพรีวิว vivo V30 5G ถ่ายพอร์ตเทรตเทพเกินคนด้วยกล้อง 50MP พร้อม Aura Light Portrait 3.0 ที่อัปเกรดขึ้นมาใหม่

แกะกล่องพรีวิว vivo ...

Android News4 สัปดาห์ ago

5 เหตุผลที่ Galaxy Z Flip5 ยังคงเป็นมือถือจอพับที่น่าใช้สุด ๆ

Galaxy Z Flip5 จัดว่...

Advertisement

Copyright © 2012 iphone-droid.net.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ ดูเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และจัดการได้ที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึก