รู้จัก 10 เยาวชนผู้ชนะจากไทยในโครงการ Swift Student Challenge 2025

โดย Wattana S.
Swift Student Challenge 2025

ทุกๆ ปี Apple เปิดโอกาสให้นักเรียนและเยาวชนได้แสดงศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ผ่านการพัฒนาแอปพลิเคชันในโครงการ  Swift Student Challenge ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงงาน Worldwide Developers Conference (WWDC) โดยโครงการนี้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมจากทั่วโลกได้สร้างแอปบน Swift Playgrounds ด้วยภาษา Swift ซึ่งเป็นภาษาที่นักพัฒนาแอประดับมืออาชีพใช้จริง เพื่อจุดประกายไอเดียและส่งเสริมความสามารถของนักพัฒนาแอปในอนาคต และในปี 2025 นี้ เยาวชนไทยได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศผ่านการแข่งขันระดับโลก ด้วยการคว้ารางวัลผู้ชนะจากโครงการนี้ได้ถึง 10 คน และถือเป็นปีแรกที่ไทยมีผู้ชนะจากสถาบันอาชีวศึกษาอีกด้วย ในจำนวนผู้ชนะทั้ง 10 คน มีผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ หรือ Distinguished Winner จากประเทศไทยทั้งสิ้น 1 คน ได้แก่ จุ๊บพรชนกเพชรอินทร์’ โดยเธอจะได้รับเชิญให้เดินทางไปยัง Apple Park เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมพิเศษกับเยาวชนผู้ชนะเลิศจากทั่วโลก ที่เมืองคูเปอร์ติโน รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เป็นระยะเวลา 3 วัน

พรชนก เพชรอินทร์ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จังหวัดอุบลราชธานี ผู้ที่เริ่มสนใจด้านการเขียนโค้ดจากการเข้าร่วมแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์กู้ภัย ทั้งยังทำหน้าที่ผู้ช่วยสอนให้แก่อาจารย์ในคลาสวิชาวิทยาการหุ่นยนต์สำหรับนักเรียนคนอื่นๆ ที่สนใจ และหลังได้แรงบันดาลใจจากรุ่นพี่ที่เคยส่งผลงานเข้าร่วม Swift Student Challenge พรชนกจึงเริ่มศึกษาการเขียนโปรแกรมภาษา Swift ด้วยตนเองผ่าน YouTube ที่สอนเนื้อหาตั้งแต่พื้นฐาน และพัฒนาทักษะต่อเนื่องจนสามารถสร้างแอปพลิเคชันของตนเองได้สำเร็จ ในปีนี้พรชนกคว้ารางวัลชนะเลิศจากผลงานการสร้างสรรค์แอป CyberGuardian ที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง Cyber Security ซึ่งเธอมองว่าเป็นองค์ความรู้ที่น่าสนใจ แต่การเข้าถึงองค์ความรู้เหล่านี้จะต้องจ่ายเงินจึงสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ เธอจึงเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างแอปที่ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่อง Cyber Security ได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม อีกทั้งยังมาพร้อมกับเกมตอบคำถามที่สร้างความท้าทาย กระตุ้นผู้เล่นให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้ยังมีผู้ชนะอีก 9 คนด้วยกัน คือ

— ชวภณเนติสิงหะ จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ผู้เริ่มต้นเส้นทางการเขียนโค้ดตั้งแต่อายุ 10 ขวบ จากการทดลองเขียนคำสั่งในเกม Minecraft ก่อนจะต่อยอดสู่ภาษา Swift เขาได้พัฒนาแอปที่มีชื่อว่า Systaxia ซึ่งเป็นเกมที่มีเส้นเรื่องน่าสนใจ โดยผู้เล่นจะต้องช่วย ‘ยูกิ’ ตัวละครหลักซึ่งเข้าไปติดในคอมพิวเตอร์ให้ออกมาสู่โลกภายนอกให้ได้ พร้อม ๆ กับเรียนรู้พื้นฐานการเขียนโค้ดและทำแบบทดสอบในแต่ละด่านให้สำเร็จ

— รัสรินทร์นิธิเจริญอริยะบัณฑิตจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ที่เติบโตมาในครอบครัวที่ทำธุรกิจทำให้เธอมีแรงบันดาลใจที่จะถ่ายทอดความรู้ด้านธุรกิจให้กับคนทุกเพศทุกวัย เธอจึงได้พัฒนาเกม Ba.Con เกมแสนสนุกที่ช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้หลักการทำธุรกิจผ่านการบริหารร้านขายเบคอนที่ปลูกฝังแนวคิดด้านธุรกิจอย่างยั่งยืน

— สุคนธาภู่พระอินทร์ จากวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) ได้รับแรงบันดาลใจการสร้างเกม Money Loop จากแคมเปญรณรงค์เกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์และปัญหาด้านความจำ เธอตระหนักถึงผลกระทบของโรคดังกล่าว จึงเกิดเป็นเกมแยกแยะและจัดการเงินบาทไทยที่ช่วยฝึกความจำและพัฒนาทักษะทางสมองเพื่อช่วยลดโอกาสการเกิดปัญหาด้านความจำและลดความเสี่ยงการเป็นโรคอัลไซเมอร์ในอนาคต

— ระพีพัฒน์ทำดี จากวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) ได้พัฒนาเกมเพื่อการศึกษาอย่าง Mystery Plant เกมดูแลต้นไม้ที่สนุก เข้าใจง่ายและสอนให้ผู้เล่นรู้จักการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดและการคิดเชิงกลยุทธ์ผ่านการตัดสินใจที่ตัวละครหลักในเกมจะต้องเลือกในแต่ละครั้งเพื่อเลี้ยงต้นไม้ปริศนาให้เติบโตและสะสมให้ครบทั้งคอลเลคชัน

— ศรุติ์อาจณรงค์ จากโรงเรียนนาคประสิทธิ์ มูลนิธิวัดบางช้างเหนือ ผู้เริ่มต้นเส้นทางการเขียนโค้ดตั้งแต่อายุ 13 ปี เขาได้นำความถนัดในการเขียนโค้ดรวมเข้ากับความรักในการเล่นเปียโนจนสร้างสรรค์แอปที่มีชื่อว่า HearPiano แอปนี้ออกแบบมาเพื่อฝึกการฟังเสียงเปียโนและการจูนโน้ต โดยผู้ใช้จะสวมบทเป็นช่างจูนเปียโน ปรับเสียงให้ตรงคีย์ในเวลาที่จำกัดเพื่อช่วยเสริมทักษะการแยกแยะเสียงในรูปแบบที่เข้าใจง่ายและเข้าถึงได้สำหรับทุกคน

— เทตอองไชน นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ผู้ที่ได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนโค้ดจากลุงของเขาซึ่งเป็นโปรแกรมเมอร์ การเขียนโค้ดไม่เพียงแต่ทำให้เขาได้ใกล้ชิดกับครอบครัวมากขึ้น แต่ยังจุดประกายความสนใจและกำหนดทิศทางในอนาคตของเขาในฐานะนักพัฒนาแอปอีกด้วย ในปีนี้เขาได้สร้างสรรค์แอป EcoVision ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถประเมินค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้ทันทีเพียงแค่ยกกล้องขึ้นถ่าย

— หลี่เจิ้นหยี่ลี นักเรียนจากโรงเรียนวารีเชียงใหม่ เขาเกิดมาพร้อมกับปัญหาด้านการได้ยินซึ่งทำให้เขาได้ยินเสียงจากหูซ้ายน้อยกว่าหูขวา เรื่องนี้ได้จุดประกายไอเดียของเขาในการช่วยเหลือชุมชนผู้ที่มีปัญหาการได้ยินผ่านแอป HearMeOut โดยแอปนี้สามารถแปลงเสียงพูดเป็นข้อความได้แบบเรียลไทม์ โดยใช้เทคโนโลยี Augmented Reality (AR) เพื่อช่วยให้การสื่อสารของผู้ที่มีปัญหาการได้ยินมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

— เจษฎาพงศ์ภัณฑารักษ์ นักเรียนจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม ผู้มีความสนใจในประเด็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้เขามุ่งมั่นพัฒนาโครงการที่ลดปัญหาขยะไมโครพลาสติก และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบของประเด็นนี้ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม เขาจึงพัฒนาแอป microPLASTICS เกมแบบอินเทอร์แอกทีฟที่ให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะอย่างถูกวิธี พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงอันตรายของไมโครพลาสติกในรูปแบบที่เข้าใจง่ายและน่าสนใจ

— นนท์ปวิธอินต๊ะแก้วนักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต (SIIT-RS) นักศึกษาผู้เคยคว้ารางวัลจาก Swift Student Challenge 2023 มาแล้วผ่านผลงาน Color Master และในปีนี้ เขาคว้ารางวัลผู้ชนะอีกครั้งจากผลงานการสร้างสรรค์แอป Gate Genius แอปที่สอนพื้นฐานการทำงานของลอจิกเกต (Logic Gates) ผ่านบทเรียนและการจำลองแบบอินเทอร์แอกทีฟ ทำให้การเรียนรู้เรื่องลอจิกเกต กลายเป็นเรื่องเข้าใจง่าย สนุกและไม่น่าเบื่อ

เยาวชนทั้ง 10 คนจากประเทศไทยที่ได้รับคัดเลือกในปีนี้ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงทักษะด้านการพัฒนาแอปพลิเคชันเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความเป็นเลิศในด้านนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ ผลกระทบทางสังคม และการส่งเสริมความเท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยีอีกด้วย 

เรื่องน่าสนใจเพิ่มเติม:

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More